การเลือกมหาวิทยาลัยเรียนต่อไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหราชอาณาจักร ที่มีสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษามากกว่า 150 ซึ่งแต่ละแห่งก็มีความโดดเด่นแตกต่างกันออกไป นับเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างยิ่งสำหรับคนไทยตาดำๆ อย่างเรา เพราะอย่างที่รู้ๆ กันว่า การเลือกหลักสูตรและมหาวิทยาลัยผิดพลาด อาจเป็นสาเหตุของการเลิกเรียนกลางคัน ซึ่งบั่นทอนทั้งเวลา ทุนทรัพย์ และกำลังใจ แถมการเปลี่ยนสาขาหรือมหาวิทยาลัยก็ไม่ใช่เรื่องที่จะทำกันได้ง่ายๆ
แต่ก็พอจะมีทริคดีๆ ในการเลือกมหาวิทยาลัยที่เหมาะสมสำหรับแต่ละคนอยู่บ้าง สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการพิจารณาลักษณะเด่นของแต่ละมหาวิทยาลัย ว่าสอดคล้องกับบุคลิกภาพ ความสนใจ และเป้าหมายของเราหรือเปล่า ต่อไปนี้คือข้อแนะนำ เพื่อให้แน่ใจว่า น้องๆ ได้เลือกมหาวิทยาลัยที่เหมาะสมที่สุดสำหรับตัวเองครับ ไปดูกันเลย
จุดแข็งของมหาวิทยาลัย หรือ Areas of strength
ไม่มีมหาวิทยาลัยใดที่เชี่ยวชาญไปซะทุกด้าน แต่ก็ไม่มีมหาวิทยาลัยใดเหมือนกันที่ไม่เชี่ยวชาญในเรื่องใดเลย แต่ละมหาวิทยาลัยมักมีจุดแข็งหรือจุดขายของตัวเอง ดังนั้นน้องๆ ควรศึกษาข้อมูลให้แน่ใจว่าสาขาวิชาหลักสูตรที่น้องเลือก เป็นจุดแข็งของมหาวิทยาลัยที่เราอยากเรียนด้วยหรือเปล่า การพิจารณาจาก ranking หรือการจัดอันดับต่างๆ ก็พอช่วยได้ แต่น้องๆ ยังสามารถค้นคว้าข้อมูลด้าน การเรียนการสอนและการวิจัย และอื่นๆ จากเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของมหาวิทยาลัยได้โดยตรง
การเลือกมหาวิทยาลัยที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาที่เราต้องการ อาจช่วยให้น้องๆ สามารถเข้าถึงโอกาสพิเศษทางการศึกษาอื่นๆ ของแต่ละมหาวิทยาลัย เช่น สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ หรือความร่วมมือกับองค์กรธุรกิจที่มีเฉพาะที่มหาวิทยาลัยนั้นๆ หรือถ้ามหาวิทยาลัยดังกล่าว มีจุดแข็งอยู่ที่การวิจัย ก็เป็นไปได้ว่าน้องๆ จะได้มีโอกาสได้เรียนรู้จากนักวิจัยระดับแนวหน้าหรือหน่วยงานวิจัยที่มีชื่อเสียง เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่มีอิทธิพลต่อการเลือกมหาวิทยาลัย เช่น ข้อจำกัดของหลักสูตร หรือหลักสูตรที่เฉพาะด้านมากๆ ทีนี้ตัวเลือกของน้องๆ ก็จะง่ายขึ้นหน่อย เพราะบางหลักสูตร อาจจะมีให้เรียนในมหาวิทยาลัยเพียงไม่กี่แห่ง ซึ่งเป็นได้ทั้งข้อดีและข้อเสียครับ
เราอยากเรียนในมหาวิทยาลัยแบบไหน? หลักสูตรที่เราต้องการควรมีลักษณะเป็นยังไง? ลองไปหาหลักสูตรมาศึกษา ดูว่ามีหัวข้อที่เราสนใจบ้างหรือไม่? (ถ้าไม่มีก็ผ่านไปเลย) ที่ผ่านมาเราสนุกกับการศึกษาในเรื่องเหล่านี้จริงหรือเปล่า? จบไปแล้วจะทำงานอะไร? ถามตัวเองด้วยคำถามเหล่านี้ และตอบตัวเองให้ได้ ก็จะได้ไอเดียที่กระจ่างขึ้น
โอกาสในการทำงานและการเพิ่มพูนประสบการณ์
เรียกว่าเป็นเหตุผลแรกๆ ของคนส่วนใหญ่เลยก็ว่าได้ สำหรับการเลือกหลักสูตรและมหาวิทยาลัย นั่นก็คือโอกาสในการทำงานหลังเรียนจบ หลายๆ หลักสูตร ในหลายๆ มหาวิทยาลัย จะมี work placements หรือการฝึกประสบการณ์การทำงานต่างเรียน 1 ปี เต็ม (a full year in an industry) หรือมีรายวิชาเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการจ้างงาน เป็นจุดขาย ซึ่งถือเป็นโอกาสสำหรับผู้เรียน ที่จะได้เริ่มเส้นทางอาชีพของตัวเองตั้งแต่ยังอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยบางแห่งมีศูนย์วิจัย และ Technology Parks มีความร่วมมือกับองค์กรที่แข็งแกร่ง ฯลฯ หรือบางหลักสูตรจะให้โอกาสนักศึกษาได้ไปเรียนในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนแบบแลกเปลี่ยนหรือเป็นหลักสูตรภาคบังคับ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับน้องๆ ว่า ต้องการโอกาสที่แถมมากับหลักสูตรแบบไหน แต่ที่นี่ๆ คงไม่มีใครอยากเรียนจบออกมาแล้วว่างงาน การเลือกมหาวิทยาลัยที่มีอัตราการจ้างงานหรือการเรียนต่อสูง (Graduate Prospects) หรือการันตีด้านโอกาสการทำงาน จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่มักถูกนำมาพิจารณาในการเลือกมหาวิทยาลัย
สไตล์ของการเรียนการสอนและหลักสูตร
นอกเหนือไปจากการประเมินความสามารถในการเรียนของเรา ว่าจะสามารถสมัครเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยนั้นๆ ได้หรือไม่ รวมถึงความชอบส่วนตัว ว่ารักที่จะเรียนในสาขานั้นๆ จริงหรือเปล่า (หรือแค่ตามกระแส) อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ การเลือกสไตล์ของการเรียนการสอนและการออกแบบหลักสูตร ว่าตรงกับความต้องการของเราหรือไม่
มหาวิทยาลัยระดับท็อปของอังกฤษ ยกตัวอย่าง เช่น Oxford หรือ Cambridge อาจจะถูกพูดถึงในแง่ของความเป็นเลิศทางวิชาการ แต่ไม่ได้เหมาะกับนักเรียนทุกคน เพราะหลักสูตรของมหาวิทยาลัยดังๆ เหล่านี้อาจไม่ยืดหยุ่นเท่ากับที่อื่นๆ ทั้งการแข่งขันและบรรยากาศในการเรียนก็ค่อนข้างเข้มข้น และเคร่งเครียด หากน้องๆ ไม่ใช่สายวิชาการมาตังแต่ต้น ก็ต้องชั่งใจให้ดีว่า เราจะไปได้ตลอดรอดฝั่งไหม และเราต้องการอะไรมากกว่ากัน ชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยหรือหลักสูตรที่เหมาะสมกับเราจริงๆ
ทั้งนี้ หลักสูตรของมหาวิทยาลัยอังกฤษที่มีความยืดหยุ่นส่วนใหญ่ จะเพิ่มรายวิชาเสริมเข้าไป และให้โอกาสนักศึกษาในการเลือกเรียนรายวิชาที่สนใจ นอกเหนือไปจากรายวิชาหลักในหลักสูตร ตัวอย่างเช่น หลักสูตร English Studies ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาสามารถเรียนรายวิชาอื่น ๆ ในสาขามนุษยศาสตร์ได้ด้วย เช่น ประวัติศาสตร์ ปรัชญา การเขียนเชิงสร้างสรรค์ หรืออื่นๆ ตามความสนใจ เป็นต้น
ถามตัวเองถึงความต้องการลึกๆ ว่าเราให้ความสำคัญกับสิ่งใดมากที่สุด ชื่อเสียงของสถานศึกษา ความเข้มข้นทางวิชาการ ความยืดหยุ่น หรือโอกาสการทำงานในอนาคต?
วัฒนธรรมของแต่ละมหาวิทยาลัย
อย่างที่บอกไปว่า แต่ละมหาวิทยาลัย ก็จะมีคาแรกเตอร์ต่างกันออกไป มีขนาดหรือความพลุกพล่านของวิทยาเขต หรือที่ฝรั่งเรียกว่า Campus community เล็กหรือใหญ่ต่างกัน น้องๆ ควรถามตัวเองให้ดีว่า เราอยากเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมแบบใด และมหาวิทยาลัยที่เราสนใจเข้ากับไลฟ์สไตล์ของเราหรือไม่ มีสิ่งอำนวยความสะดวกภายในวิทยาเขตที่เหมาะกับความต้องการของเราไหม ฯลฯ มหาวิทยาลัยโดยทั่วไป จะให้บรรยากาศ ที่เฉพาะเจาะจง เช่น ความเป็นนานาชาติ บรรยากาศแบบวิชาการ ผ่อนคลายสบายๆ หรือกระตือรือร้น น้องๆ สามารถหาข้อมูลได้จากเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัย สอบถามผู้รู้หรือตัวแทนของมหาวิทยาลัยก็ได้ว่า แต่ละแห่งที่เราสนใจ มีบรรยากาศเป็นอย่างไร เหมาะกับบุคลิกและความต้องการของเราหรือไม่
สนใจไปเรียนต่อที่ UK
หากน้อง ๆ คนไหนสนใจเรียนต่อที่ มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศอังกฤษ หรือ อยากสอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักสูตรเรียนต่อ สามารถลงทะเบียนกับ SI-UK เพื่อรับคำปรึกษา ฟรี! ได้ตั้งแต่วันนี้ค่ะ
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
Take the first step towards studying abroad!
ความประทับใจ นักเรียนของเรา
น้องไทม์
แชร์ประสบการณ์ดีๆ กับบริการที่ได้รับ
น้องปันปัน
รีวิวความเอาใจใส่และคุณภาพการบริการ
น้องใบเตย
แบ่งปันประสบการณ์การใช้บริการ
น้องมิ้นต์
รีวิวความประทับใจในบริการ
น้องเจนนี่
ความรู้สึกหลังได้รับบริการ
น้องกาย
แชร์ความรู้สึกหลังได้รับบริการ
น้องผู้ร่วมงาน
บอกต่อความประทับใจในงานแฟร์
Priyal
On working with StudyIn counsellors