ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย เป็นเรื่องที่โลดโผน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มหาวิทยาลัยในต่างประเทศ เมื่อเราต้องเข้าไปใช้ชีวิตอยู่ในหอพักสำหรับนักศึกษา ต้องดูแลตัวเองตั้งแต่หัวจรดเท้า แถมยังต้องแชร์พื้นที่กับเพื่อนร่วมห้องและร่วมตึก มันก็ฟังดูน่าตื่นเต้นดูอยู่หรอก แต่ปัญหาก็เยอะพอกัน
สำหรับน้อง ๆ ที่กำลังเตรียมตัวพบกับประสบการณ์เด็กหอ นี่คือเคล็ดลับ 5 ข้อ ที่อาจจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในอนาคตครับ
#1 เตรียมใจรับมือกับ “เสียงรบกวน”
มันเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จริง ๆ เมื่อต้องอยู่ร่วมกับเพื่อนใหม่วัยคะนองทั้งตึก แม้ว่าหอพักเกือบทุกแห่งจะมีกฏหรือข้อกำหนดเกี่ยวกับเรื่องของเสียงไว้อย่างเป็นลายลักษณ์อักษรแล้วก็ตาม ต่อให้ไม่มีใครส่งเสียงหรือเปิดเพลงเสียงดัง แต่เสียงรบกวนอื่น ๆ เช่น เสียงรถราบนท้องถนน เสียงเดิน เสียงกรนของรูมเมท ฯลฯ ก็อาจรบกวนโสตประสาทของน้อง ๆ อยู่นั่นเอง คำแนะนำที่ดีที่สุดคือ ทำใจให้ชินกับเสียงชวนหนวกหูต่าง ๆ ซะ
SURVIVAL TIP: ซื้อ earplugs หรือที่อุดหูมาไว้ใช้ เผื่อมีวันไหนที่เราต้องการการพักผ่อนจริง ๆ
#2 “ความเป็นส่วนตัว” คืออะไรเหรอ?
ช่วงเวลาของการเป็น freshmen คือช่วงเวลาที่เราจะได้ค้นพบสัจธรรมที่ว่า เป็นเรื่องยากที่จะหาเวลาที่เป็นส่วนตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหอพัก ที่ไม่ใช่แค่เราต้องแชร์ห้องกับรูมเมทเท่านั้น แต่ต้องแชร์เกือบทุกด้านของพื้นที่ชีวิต หากมองในแง่ดี มันก็คือการฝึกการใช้ชีวิตแบบ communal style แต่ถ้าใครที่คุ้นเคยกับการอยู่ในบ้านที่มีพื้นที่ส่วนตัวเป็นสัดเป็นส่วนก็อาจจะรู้สึกขัดใจอยู่บ้าง
SURVIVAL TIP: ถ้าเบื่อคนเยอะเรื่องแยะ ลองมองหาพื้นที่ที่เราสามารถใช้เวลาส่วนตัวจากที่อื่นแทน เช่น ห้องสมุด ร้านกาแฟสงบๆ หรือสวนสาธารณะ เป็นต้น เพื่อโฟกัสกับความรู้สึกนึกคิดของตัวเองเงียบ ๆ
#3 เตรียมตัวพร้อมเจอกับ “คน” ทุกประเภท เท่าที่เราจะจินตนาการได้
มหาวิทยาลัยคือที่สำหรับพบปะผู้คนหน้าใหม่ ๆ การมองโลกในแง่ดีว่าจะเจอคนน่ารักๆ นิสัยดี ๆ มันดีอยู่แล้วแหละ แต่โอกาสที่จะเจอคนนิสัยแย่ ๆ ก็ไม่น้อยเลยเหมือนกัน เมื่อใครสักคนอยู่ห่างไกลจากบ้าน จากครอบครัว และ support system ที่คุ้นเคย พอเจอเรื่องอะไรที่ทำให้รู้สึกอึดอัดหรือไม่สบายใจ จากคนที่ปกติเคยใจเย็น ก็อาจกลายเป็นคนอารมณ์ร้ายได้ทันทีเหมือนกัน
SURVIVAL TIP: ใช้ “สติ” รู้เท่าทันอารมณ์ของตัวเองให้ได้ การอยู่ร่วมกันกับคนร้อยพ่อพันแม่ ต่างที่มา ต่างวัฒนธรรมหรือความเชื่อ เราต้องใช้ “สติ” เท่านั้นจริง ๆ คิดให้รอบคอบ ก่อนด่วนตัดสินใครสักคน หากต้องเจอหรืออยู่ร่วมกับคนที่เรารู้สึกว่าเขาคือ “ตัวปัญหา” อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน (แต่หนีกันไม่พ้น ต้องเจอทั้งในคลาสหรือที่หอพัก) ต้องรู้จักวิธีประนีประนอม หรือถ้าไม่โอเคจริง ก็ยายามเลี่ยงหรือหลีกให้ห่างซะ อย่าไปมีเรื่อง จะได้ไม่คุ้มเสีย
#4 ตุนเสบียงเอาไว้
เรื่องของอาหารการกิน ถือเป็นเรื่องใหญ่สำหรับใครหลาย ๆ คน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เด็กไทยที่กินยากหรือขี้เบื่อ เมื่อไม่มีใครคอยเตรียมเรื่องอาหารการกินให้ ก็ถึงเวลาต้องลงมือด้วยตัวเอง ทำไม่เป็นก็อาจต้องหัดให้เป็น อีกอย่างหนึ่งคือ เด็กหอมักนอนกันดึกถึงดึกมาก ควรตุนเสบียงเอาไว้ให้เพียงพอสำหรับมื้อดึก ลองหาวิธีประหยัด ๆ ในการตุนอาหารแห้งหรือเครื่องปรุงจากร้านของชำใกล้ๆ บางแห่งอาจมีส่วนลดสำหรับนักศึกษาด้วย
SURVIVAL TIP: เรื่องที่พบว่าเป็นปัญหาบ่อยๆ ระหว่างรูมเมทก็คือ “การโขมยอาหาร” ของกันและกัน คนต่างชาติจะค่อนข้างซีเรียสกับเรื่องแบบนี้มากๆ ทางที่ดี ควรตกลงหรือบอกกันล่วงหน้าว่า อะไรที่แชร์ได้ และอะไรที่ไม่แชร์ หรือจะตั้งเสบียงกองกลาง เช่น พวกขนมขบเคี้ยว ระหว่างน้อง ๆ กับรูมเมทไว้ก็ได้ โดยผลัดกันซื้อมาเติม และใครก็สามารถมาหยิบไปกินได้เรื่อย ๆ
#5 ตีซี้กับ RA เอาไว้ ดีที่สุด
RA หรือ Residential Advisor (RA) หรือผู้ดูแลหอพัก เป็นอะไรที่ใกล้เคียงกับ “ผู้ปกครอง” ที่สุดแล้วในหอพัก ซึ่งโดยส่วนใหญ่มักจะเป็นรุ่นพี่ที่ทางมหาวิทยาลัยจ้างให้ทำหน้าที่ RA เพื่อดูแลความเรียบร้อยทั้งหมดในหอพัก และด้วยเหตุนี้ RA จึงมีอำนาจหนือ freshmen ทั้งหมด แต่อย่าลืมว่าพวก RA ก็เป็นนักศึกษาเหมือนเราๆ และพวกเขาก็กำลังบาลานซ์ระหว่างการเรียน การทำงานในฐาน RA และชีวิตส่วนตัว ดังนั้นอย่าพยายามไปสร้างเรื่องปวดหัวหรือสร้างภาระ เพราะ RA ก็อาจทำความยุ่งยากให้กับชีวิตน้อง ๆ ได้เช่นเดียวกัน
SURVIVAL TIP: เราไม่จำเป็นต้องทำตัวเป็น BFF (Best Friend Forever) กับ RA แต่พยายามอย่าไปทำอะไรให้เคืองเชียว น้องๆ ควรไปแนะนำตัวเองให้ RA รู้จักในวันย้ายเข้าหอ ทักทายเมื่อเจอ ชวนคุยบ้าง ให้เขาจำได้ว่าเราอยู่ชั้นไหน ห้องอะไร พูดง่าย ๆ ว่าสร้างความประทับใจนั่นแหละ ทีนี้ พอมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นระหว่างที่อาศัยอยู่ในหอพัก RA จะได้เต็มใจช่วยเหลือเราอย่างเต็มที่
การพยายามจัดการกับปัญหาต่าง ๆ ในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น เป็นเพียงหนึ่งในประสบการณ์มหาวิทยาลัยที่ทุกคนต้องพบเจอ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการทำความเข้าใจกับกฏระเบียบขั้นพื้นฐานเพื่อรู้จักปรับตัว ขอเพียงน้อง ๆ มีความตั้งใจ เรียนให้หนัก เล่นให้สนุก ทุกอย่างจะเข้าที่เข้าทางเองในไม่ช้าครับ
Study in the UK
สำหรับน้อง ๆ ที่ต้องการข้อมูลหรือต้องการสมัครเรียนในระดับมหาวิทยาลัยที่ประเทศอังกฤษหรือ UK สามารถลงทะเบียนเพื่อขอรับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญของ SI-UK ได้ตั้งแต่วันนี้ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายครับ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
10 เรื่องน่ารู้สำหรับนักเรียนไทย ก่อนไปใช้ชีวิตอยู่ที่อังกฤษ
Take the first step towards studying abroad!
ความประทับใจ นักเรียนของเรา
น้องไทม์
แชร์ประสบการณ์ดีๆ กับบริการที่ได้รับ
น้องปันปัน
รีวิวความเอาใจใส่และคุณภาพการบริการ
น้องใบเตย
แบ่งปันประสบการณ์การใช้บริการ
น้องมิ้นต์
รีวิวความประทับใจในบริการ
น้องเจนนี่
ความรู้สึกหลังได้รับบริการ
น้องกาย
แชร์ความรู้สึกหลังได้รับบริการ
น้องผู้ร่วมงาน
บอกต่อความประทับใจในงานแฟร์
Priyal
On working with StudyIn counsellors