มีที่เรียนแล้ว แถมยังได้เรียนในคณะที่ใฝ่ฝัน แต่อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน สำหรับประสบการณ์ปีแรกในมหาวิทยาลัย คือเรื่องของ รูมเมท จะทำยังไงให้เราสามารถอยู่ร่วมกับคนที่เป็น “คนแปลกหน้าอย่างสิ้นเชิง” ได้โดยไร้ซึ่งปัญหา ไร้ซึ่งความกังวลใด ๆ และได้ใจกันไปเต็ม ๆ
เหล่านี้คือทิปส์เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมห้อง และทำให้ประสบการณ์เด็กหอของน้อง ๆ กลายเป็นประสบการณ์ดี ๆ (อ่าน 5 เคล็ดลับการเอาชีวิตรอดในหอพัก สำหรับเด็กมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ เพิ่มเติม)
#1 อย่าไปคาดหวังกับรูมเมท
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อย่าไปคาดหวังว่าเราจะต้องเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน ถึงขั้น Best Friend Forever ตั้งแต่วันแรก ๆ ปัญหาของเด็กใหม่และโดยเฉพาะเด็กไทยอย่างเรา คือคาดหวังเรื่องของมิตรภาพมากเกินไป ไอเดียก็คือ ทำตัวเป็นเพื่อนร่วมห้องที่ดีมีมารยาทก็พอ ไม่ต้องใจกว้างเป็นแม่น้ำหรืออะไรก็ยอมไปซะหมดจนถูกเอาเปรียบ รูมเมทที่ดีต้องไม่ก้าวก่ายเรื่องเรียน หรือเรื่องส่วนตัวกันมากจนเกินไปนัก ถ้าน้อง ๆ ซี้กับรูมเมทได้นั่นเป็นเรื่องดี แต่ถ้าไม่ใช่ นั่นก็เป็นเรื่องธรรมดา
#2 ทำความรู้จักกันให้ไว
ชวนรูมเมทคุยให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ยิ่งรู้จักกันเร็วเท่าไหร่ ยิ่งทำให้อะไร ๆ มันง่ายมากขึ้นเท่านั้น ขั้นตอนนี้เป็นส่วนที่สำคัญอย่างมาก การทำความรู้จักกันแต่เนิ่น ๆ จะทำให้น้อง ๆ ได้เห็นขอบเขตและความต้องการของแต่ละฝ่าย อะไรที่เรารับได้ อะไรที่เขารับไม่ได้ จะได้ทำข้อตกลงกันแต่แรก แม้บางคนจะเลือกรูมเมทเอง แต่ถึงอย่างนั้น การรู้จักใครสักคน กับการอยู่ร่วมกัน นั้นเป็นเรื่องที่แตกต่างกันอย่างมหาศาล เชื่อพี่
#3 ตกลงกันให้ดีเรื่องของนาฬิกาปลุก
หากน้อง ๆ หรือรูมเมทเป็นคนหลับลึก หลับได้ตลอด ไม่มีปัญหากับเสียงนาฬิกาปลุกตอนเช้า ๆ ก็ข้ามข้อนี้ไปได้เลย แต่ถ้าไม่ใช่ เรื่องนี้ควรต้องคุยกันตั้งแต่ก่อนเปิดเทอม เอาตารางเรียนมานั่งกางดูจะได้ตกลงกันได้ ถ้าแต่ละคนมีแต่คลาสสาย เช่น 10 หรือ 11 โมงเช้าก็โชคดีไป แต่บางทีมันก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเรียนคลาสเช้า เช่น 8.30 ก็จะได้คุยกันก่อน ไม่ต้องมาฟึดฟัดไม่พอใจกันทีหลัง
#4 คุยกันเรื่องการใช้ห้องน้ำหรือห้องอาบน้ำ
หอพักบางที่มีห้องน้ำในตัว บางที่เป็นห้องรวมต้องใช้ร่วมกัน แต่ยังไงก็ต้องคุยกันเรื่องการใช้ห้องน้ำและห้องอาบน้ำ ความสะอาด รวมถึงอุปกรณ์และของใช้ส่วนตัวต่าง ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการหยิบใช้สะเปะสะปะ เพราะบางคนก็เซนซิทีฟมากเรื่องของส่วนตัว จะกลายมาเป็นความไม่พอใจกันทีหลังอีกเรื่อง
#5 การทบทวนบทเรียนหรืออ่านหนังสือสอบก็เป็นเรื่องสำคัญ
ช่วงไหนที่ต้องอ่านหนังสือ แนะนำให้ตกลงกันว่า ให้หาที่อื่นนอกเหนือจากห้องนอน เป็นที่อ่านหรือติว เพื่อจะได้ไม่รบกวนเวลาพักผ่อนซึ่งกันและกัน แต่หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็ควรตกลงกันให้ดี ในช่วงสอบ การพักผ่อนก็เป็นเรื่องสำคัญ บางคนมีสอบเช้าต้องรีบเข้านอน หรือบางทีเราสอบเสร็จหมดแล้ว แต่เพื่อนยังไม่เสร็จ ต้องดูจังหวะและเกรงใจกันให้มาก ๆ นี่คือเหตุผลว่าในช่วงสอบหรือทบทวนบทเรียน ให้ไปทำข้างนอก เช่น ห้องอ่านหนังสือ ห้องสมุด หรือร้านกาแฟแทน จะได้ไม่รบกวนซึ่งกันและกัน
#6 ระวังเรื่องของเชื้อโรคและโรคติดต่อต่างๆ
ไม่อยากจะเปรียบเทียบว่าการใช้ชีวิตอยู่ในหอพักที่คนเยอะ ๆ ก็เหมือนกะโจนลงไปในบ่อเชื้อโรค (มันก็ไม่ถึงขนาดน๊านนนน) ไม่ว่าใครก็ใคร ก็ต้องเจ็บต้องป่วยกันบ้างแหละ ดังนั้นป้องกันตัวเองเอาไว้ก่อน เตรียมทิชชู่ปียกแบบผสมสารฆ่าเชื้อ หรือผ้าปิดจมูกป้องกันไว้หน่อยก็ดี หากรูมเมทของเราเกิดเจ็บป่วย ลองไปหาที่อยู่อื่นหรือขอพักกับเพื่อนคนอื่นก่อนเพื่อความปลอดภัย หรือจะลองปรึกษากับผู้ดูแลหอพักก็ได้ครับ
#7 เตรียมรับมือกับเรื่องเสียงรบกวน
ไม่ว่าจะเป็นเสียงพูดคุย เสียงรถบนถนน เสียงกรน เสียงหายใจ ฯลฯ ไม่ว่าจะอะไรก็ทำให้คนที่ต้องการสมาธิจดจ่อ หรือต้องการพักผ่อน หงุดหงิดใจไดทั้งนั้น นอกเหนือไปจากการพูดคุยกันถึงเสียงที่เราสามารถควบคุมได้ เช่น การใช้โทรศัพท์ หรือการเปิดเพลงในห้อง ให้เข้าใจ อีกอย่างหนึ่งที่อยากจะแนะนำ ได้แก่การซื้อ ear plug หรือที่อุดหูมาใช้ หรือถ้าหากใครต้องการสมาธิในการอ่านมาก ๆ ก็ขอแนะนำให้ซื้อ sound machine ที่สามารถสร้างเสียงอื่น ๆ เพื่อตัดและดึงความสนใจเราออกจากเสียงรบกวน ไม่ว่าจะเป็นเสียงลม เสียงน้ำตก เสียงคลื่น ฯลฯ มาใช้ หรือจะเปิดจากมือถือของเราก็ได้ ก็สะดวกเช่นกัน
#8 จัดการกับเรื่องกลิ่น
เรื่องของกลิ่นนี่ สามารถทำลายความสัมพันธ์อันดีของเพื่อนร่วมห้องได้เลยนะ คุยกันให้ชัดไปเลยว่า แต่ละคนสามารถที่จะเอาอะไรมารับประทานที่ห้องได้บ้าง หรือไม่ได้เลย หรือตั้งกฏของการดูแลทั้งเรื่องของความสะอาด การสะสมอาหารในตู้เย็น เรื่องของขยะ ทิ้งเมื่อไหร่ ใครเป็นคนเก็บไปทิ้ง หรือจะแก้ปัญหาด้วยสเปรย์ปรับอากาศก็แล้วแต่
#9 แขกจะไปใครจะมา ให้คุยกันตรงๆ ไปเลย
โดยเฉพาะบรรดากิ๊ก หรือ แฟนของรูมเมท (หรือแม้แต่ของเราเอง) คุยกันให้เคลียร์ ๆ ชัด ๆ ว่าสามารถมาอยู่ มาค้างด้วยได้ไหม ถ้าไม่สบายใจก็บอกไปตรง ๆ ตั้งกฏกันให้ชัดเจน ว่าห้ามทำอะไรบ้างในห้อง สามารถแวะมาเยี่ยมมาคุยได้เมื่อไหร่ ไม่ว่าน้อง ๆ กับรูมเมท จะตกลงกันได้ว่ายังไง แต่เรื่องของ “พื้นที่ที่ต้องใช้ร่วมกัน” ต้องมาเป็นอันดับแรกเสมอ
#10 หากเกิดปัญหา อย่านิ่งเฉย
หากมีเรื่องอะไรก็ตามที่รบกวนจิตใจหรือทำให้เรารู้สึกไม่พอใจ อย่าเก็บ หรืออย่านิ่งเฉย พุดคุยกับรูมเมทของเราตรง ๆ จะได้ไม่กินแหนงแคลงใจหันภายหลัง หากคุยกันแล้วไม่เวิร์ค อย่ารอช้า ปรึกษากับ RA หรือผู้ดูแลหอพักทันที ต่อให้เรากับรูมเมทเข้ากันดีมากเท่าไหร่ แต่ก็คงไม่มีทางหลีกเลี่ยงช่วงเวลาอึดอัดน่ารำคาญใจไปได้ ตรงกันข้าม การหนีปัญหาจะยิ่งทำให้สิ่งต่าง ๆ แย่ลง
น้อง ๆ หลาย ๆ คน อาจจะยังกลัว ๆ กล้า ๆ หรือพยายามหลีกเลี่ยงเรื่องดราม่าต่าง ๆ ด้วยเพราะเราเป็นเด็กใหม่ อยู่ต่างบ้านต่างเมือง หรือจะอะไรก็แล้วแต่ แต่สิ่งที่สำคัญกว่าก็คือเราต้องกล้าที่จะต่อสู้เพื่อตัวเอง อย่าปล่อยปัญหาต่าง ๆ ไว้นานจนเกินไป หรือ “ตามน้ำ” ไปจนปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข ถ้าคิดว่าเราตัวคนเดียวอาจจะจัดการกับปัญหาเรื่องรูมเมทไม่สำเร็จ ก็ลองปรึกษากับผู้ดูแลหอพักดู พี่ ๆ เชื่อว่า ทุกปัญหามีทางออกและทางแก้แน่นอน
Apply to Study in the UK
สำหรับน้อง ๆ ที่ต้องการข้อมูลหลักสูตร หรือต้องการสมัครเรียนในระดับมหาวิทยาลัยที่ประเทศอังกฤษหรือ UK สามารถลงทะเบียนเพื่อขอรับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญของ SI-UK ได้ตั้งแต่วันนี้ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
9 ทางลัดช่วยเรื่องเรียนในต่างประเทศ ที่หาได้ง่ายๆ ในอินเทอร์เน็ต
Take the first step towards studying abroad!
ความประทับใจ นักเรียนของเรา
น้องไทม์
แชร์ประสบการณ์ดีๆ กับบริการที่ได้รับ
น้องปันปัน
รีวิวความเอาใจใส่และคุณภาพการบริการ
น้องใบเตย
แบ่งปันประสบการณ์การใช้บริการ
น้องมิ้นต์
รีวิวความประทับใจในบริการ
น้องเจนนี่
ความรู้สึกหลังได้รับบริการ
น้องกาย
แชร์ความรู้สึกหลังได้รับบริการ
น้องผู้ร่วมงาน
บอกต่อความประทับใจในงานแฟร์
Priyal
On working with StudyIn counsellors